วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

The BOSS ตอนที่ ๑ – “นิสัยใจคอ” ของลูกน้อง มีหลายแบบ..ต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้น

หนังสือ The BOSS บริหารคนอย่างเหนือชั้น เขียนโดย อาจารย์ อดุลย์ รัตนมั่นเกษม
เขียนได้ดีครับ อ่านง่าย กระชับ นำไปใช้ได้เลย

การเป็น “นาย” หรือ Boss นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกครับ
รับผิดชอบเยอะ ทั้งเรื่องงาน และ เรื่อง “คน”
โดยเฉพาะเรื่องคนนี่ “เป็นประเด็น” มากทีเดียว เพราะการทำให้คนพอใจทุกคนนั้น ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย แต่การทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้โดยไม่มีความขัดแย้งหรือมีความขัดแย้งก็มีให้น้อยนั้น อาจจะพอทำได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า “นาย” เข้าใจงานในด้านการดูแลคนมากน้อยเพียงใด


ตอนที่ ๑ – “นิสัยใจคอ” ของลูกน้อง มีหลายแบบ..ต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้น

“นิสัยใจคอ” ของลูกน้อง มีหลายแบบ..ต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้นเสียก่อน จึงจะจัดการเรี่องคนได้ดีมากขึ้น
โดยอาจารย์อดุลย์ได้สรุปนิสัยใจคอของลูกน้องไว้ 6 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1.   ลูกน้องประเภทหัวแข็งดื้อด้าน
ลูกน้องบางส่วนเป็นพวก “รักศักดิ์ศรี” อย่างมาก
ดังนั้น เวลาอยู่ต่อหน้าคนอื่นๆ (รวมถึงเจ้านาย) ก็มักจะทำตัวแบบ “ดื้อ” ไม่ยอมก้มหัวให้ง่ายๆ
บางครั้งก็จะพบว่าเป็นพวก “ดื้อเงียบ” คือ เหมือนจะฟังและเข้าใจ พอลับหลังไป ก็ไปพูดแบบไม่เห็นด้วย แล้วยืนกรานความคิดเห็นของตนเองอย่างแน่นเหนียว ซึ่งผมเองก็เจอมาพอควรครับแบบนี้
วิธีแก้ไข คือ...
พูดแบบใจเย็นๆ ในเชิงข้อร้องให้ช่วยงาน
พูดขอร้องให้ช่วย ต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน
โดยสรุปก็คือ “ให้เกียรติมากขึ้น” นั่นเอง

2.   ลูกน้องประเภททำงานตามระเบียบ
ข้อดีคือ ทำตามที่นายสั่งทุกประการ
ข้อเสียคือ นอกคำสั่งเจ้านาย แม้ดีก็ไม่ทำ
อีกคำหนึ่งที่มีการให้นิยามกลุ่มนี้คือ “เช้าชามเย็นชาม”
ประเด็นก็คือ ทำงานเหมือนเครื่องจักร ทำให้เมื่อเกิดความผิดพลาดบางประการ ไม่สามารถรู้ได้ทันการณ์ ทำให้แก้ไขไม่ทันเวลา เกิดความเสียหายมากกว่า
วิธีแก้ไข คือ...
ชมเชยที่ทำงานได้ตามแผนงาน
แต่ต้องกระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นออกมา และ ลงรายละเอียดมากขึ้น
กระตุ้นให้สามารถตัดสินใจในการแก้ปัญหาได้เองด้วย

3.   ลูกน้องประเภทชอบแสดงออก
กลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นสูง ใจร้อน อยากแสดงออก
พบได้มากในน้องๆที่จบมาใหม่ๆ ไฟแรง พลังเยอะ อยากแสดงผลงานให้ประจักษ์
ข้อเสียคือ มองข้าม “จังหวะที่เหมาะสม” ไป ไม่ค่อยอดทน และทำงานแบบขาดลำดับการจัดงานที่สำคัญ (Priority)
ข้อดีคือ ไม่ย่อท้อต่อความล้มเหลว มีความพยายามทำอย่างเต็มที่
วิธีแก้ไข คือ...
แสดงความชื่มชมในความตั้งใจ และ พยายามสูง
แต่ต้องกระตุ้นให้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เรียนรู้การทำงานตามลำดับที่สำคัญ

4.   ลูกน้องประเภทกลัวยากลำบาก
หรืออาจเรียว่า “อู้งาน” ก็อาจจะได้ในบางกลุ่ม
บางส่วนมักจะพบเห็นว่า พวกเขาจะดูเหมือน “ยุ่งตลอดเวลา”
และบางส่วนจะเป็น “คนที่ขาดความมั่นใจ”
วิธีแก้ไข คือ...
อาจจะกระตุ้นโดยการตรวจสอบความคืบหน้าของงานบ่อยๆ
กระตุ้นให้พวกเขาแก้ไขปัญหาด้วยตนเองมากขึ้น ต้องกล้าตัดสินใจในบางเรื่อง

5.   ลูกน้องประเภทซื่อบริสุทธิ์
มักเป็นกลุ่มที่พึ่งจะจบการศึกษาเช่นกัน
มีประสบการณ์น้อย มีความต้องการความสำเร็จและคำชื่นชมจากหัวหน้างาน และอยากให้คนอื่นๆยอมรับตนเอง
ชีวิตเหมือนจะไปขึ้นกับคนอื่นๆมากกว่าตนเอง เสียส่วนใหญ่
วิธีแก้ไข คือ...
พูดชมในการทำงาน และให้กำลังใจ
พยายามช่วยให้พวกเขามีความมั่นใจมากขึ้น

6.   ลูกน้องประเภทชอบความสมบูรณ์แบบ
ดูเหมือนกลุ่มนี้จะดี แต่กลับตรงข้าม เพราะความต้องการ “สมบูรณ์แบบ” นี้เอง ที่ทำให้พวกเขาทำงานล่าช้ากว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำในที่สุด
และประเด็นที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือ พวกนี้จะไม่ชอบการวิพากษ์วิจารณ์
วิธีแก้ไข คือ...
เจ้านายต้องเน้นให้พวกเขารู้ “จุดสำคัญที่สุดของงาน” แต่ละอย่าง แล้วให้เขาคำนึงถึงจุดนั้นมากๆ เพื่อเน้นให้เกิดประสิทธิภาพของงานนั้นๆ
หากจะเน้นการปฏิบัติงานของพวกเขา ต้องทำบ่อยๆ อย่างเหมาะสม ไม่กดดันมากจนเกินไป

นี่เป็นภาพรวมของ “ลักษณะนิสัยของลูกน้อง” ทั้ง 6 แบบครับ
ลองปรับใช้ดูนะครับ เพื่อองค์กรจะได้ก้าวหน้าไปอย่างดียิ่งขึ้น และ นำพาความสำเร็จมาสู่ทุกคนในองค์กร ทำให้องค์กรดำเนินไปและเติบโตอย่างยั่งยืน.

ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงที่สุด
อ๋อ ขอรับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น